พอล จอห์นสัน ผู้เขียน
ปริยาภา ลาภอนันต์ ผู้แปล
6 มกราคม 2563
เบื้องต้นลองมาตอบคำถามสองข้อนี้กันก่อน คำถามแรกคือ ท่านเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สองอย่างไร มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาพฤติกรรมการเรียนภาษา และผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัยเหล่านั้นจะช่วยหาคำตอบให้ท่าน ผู้เชี่ยวชาญท่านแรกคือ สตีเวน พิงเกอร์ นักวิทยาการความรู้ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ยกทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ขึ้นมา โดยมีนักภาษาศาสตร์นามว่า นอม ชอมสกี เห็นพ้องว่าการเรียนภาษาเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ซึ่งไม่ต่างกับการสร้างไยของแมงมุม พวกมันไม่ต้องฝึกสร้างไยเพราะมันเหล่านั้นล้วนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ศาสตราจารย์ พิงเกอร์ เชื่อว่าพฤติกรรมที่เกิดจากสัญชาตญาณการเรียนรู้ภาษาถือเป็นการปรับให้เข้ากับวิวัฒนาการเช่นเดียวกับดวงตามนุษย์ [2] สมัยที่เรายังเป็นเด็กเล็ก เราเรียนรู้ภาษาแรกจากการอ่าน การฟังเพื่อน ๆ พ่อแม่ และครูของพวกเรา และเรานำเอาเทคนิคเหล่านั้นมาใช้สำหรับการเรียนภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติม พอเราโตเราก็เริ่มเรียนไวยากรณ์ (การเรียงลำดับคำที่ถูกต้อง) จากวลีต่าง ๆ ที่ได้ยิน และมาใช้ในประโยคที่พูดหรือเขียน นอกจากนี้เราเริ่มใช้การอนุมานเพื่อหาความหมายของคำศัพท์จากบริบท และ รวบรวมคำศัพท์และวลีเหล่านั้นไว้เป็นหมวดหมู่
คำถามที่สอง คือ ผู้ใหญ่สามารถเรียนภาษาอังกฤษจนแตกฉานได้หรือไม่ หรือว่าสายเกินไปเสียแล้ว?คำถามนี้ตรงประเด็นเข้าไปอีกและคงเป็นคำถามที่หลายท่านอยากรู้คำตอบ จุดนี้ผมขอพูดถึงช่วงเวลาที่สำคัญในการเรียนภาษา ในชีวิตของคนเรามีช่วงเวลาที่เรียนภาษาได้ดีที่สุด จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงใดนั้นระบุได้ยากไม่น้อย ทว่าเมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาวิจัยโดยใช้แบบทดสอบไวยากรณ์บนเว็บไซต์ และผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบจำนวน 669,498 คน ซึ่งทุกคนได้ระบุว่าตนเริ่มสัมผัสภาษาอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ การวิจัยดังกล่าวพบว่าผู้ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษก่อนอายุ 10 ปี มีอัตราการเรียนรู้ที่สม่ำเสมอไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือเมื่อมีอายุราว 17.4 ปี หลังจากนั้นอัตราการเรียนรู้จะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง [1] นักวิจัยท่านนี้ยังระบุต่อไปว่าผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองได้ แต่ถ้าเทียบกับเด็กที่เริ่มเรียนตั้งแต่ก่อนอายุ 10 ปี การเรียนในวัยผู้ใหญ่อาจต้องใช้เวลามากกว่าถึง 30 ปี เพื่อให้ถึงจุดที่แตกฉาน
ประเด็นถัดมา คือ รูปแบบการเรียนรู้ เด็กโตและผู้ใหญ่ส่วนมากมีวิธีการเรียนในแบบฉบับของตนเอง เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ดีจากวิธีการในการเรียนและการเก็บรักษาความรู้เหล่านั้นเอาไว้ สิ่งเร้าเหล่านี้ ได้แก่ การฟัง การมองเห็น และการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการนักการศึกษา อาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มีความสามารถและใส่ใจความก้าวหน้าของผู้เรียนจะพยายามจัดกิจกรรมหนึ่งอย่างเป็นอย่างน้อยสำหรับแต่ละบท โดยให้ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมกลุ่มที่กระตุ้นให้มีการปรึกษาหารือเป็นภาษาอังกฤษ นักการศึกษาใช้กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัสเหล่านี้เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับรูปแบบการเรียนรู้ทั้งสามโดยการสร้างสถานการณ์ที่กระตุ้นทั้งการมองเห็น การฟัง และการสัมผัส เพื่อให้สมองของเราสามารถตีความ และคิดเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรากำลังเรียน [3]
หากคุณกำลังจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนแรกของการเรียนภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง หรือกำลังจะรื้อฟื้นทักษะภาษาอังกฤษหลังจากห่างหายไปนาน ศูนย์ Thai-New Zealand Centre ขอให้กำลังใจและชื่นชมการตัดสินใจของคุณ นอกจากนี้เรายังขอเสนอค่าเล่าเรียนที่ดีที่สุดให้แก่คุณอีกด้วย – หากคุณลองมาปรึกษาเรา คุณจะเห็นด้วยตัวคุณเอง!
คำสำคัญ
- การเรียนภาษาอังกฤษ
- การเรียนภาษา
- ช่วงเวลาที่สำคัญ
- รูปแบบการเรียนรู้
- สิ่งเร้า
- การเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัส
References
[1] J. K. Hartshorne, J. B. Tenenbaum, and S. Pinker. A critical period for second language acquisition: Evidence from 2/3 million English speakers. Cognition, 177:263-277, 2018.
[2] S. Pinker. The Language Instinct. Penguin, 2015 edition, 1994.
[3] S. Wallace. Oxford Dictionary of Education. Oxford University Press, second edition, 2015.